ฟังแล้ว ให้กำลังใจตัวเอง | พลังใจเพื่อคุณที่ดีกว่าเดิม | เสียงบันดาลใจ

ควรตรวจสุขภาพอย่างไรในแต่ละช่วงวัย

      การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยทั่วไปแล้วโปรแกรมตรวจสุขภาพเบื้องต้นจะแบ่งตามเพศและช่วงวัย โดยแพทย์จะแนะนำให้ตรวจทุก 1 ปี การตรวจสุขภาพแต่ละช่วงวัยควรตรวจสุขภาพอย่างไร

อายุ 0 – 18 ปี

1. ตรวจเช็กสุขภาพทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ทุกครั้งที่มาตรวจพัฒนาการและรับการฉีดวัคซีนในวัยรุ่นควรเช็กด้วย BMI ด้วย

2. ได้รับวัคซีนที่เหมาะสมตามช่วงวัย

3. ตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการ

      – ตรวจคัดกรองการได้ยินด้วยเครื่องมือ OAE ภายใน 6 เดือนหลังคลอด

      – ตรวจเลือด เพื่อค้นหาภาวะซีด ในทารกแรกเกิดและให้การดูแลรักษาภาวะซีดเพื่อป้องกันไม่ให้ IQ ต่ำ ช่วงอายุ 6 – 12 / 3 – 6 ปี / ช่วงวัยรุ่น (หญิง)

4. ตรวจคัดกรองพัฒนาการ

      – ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และเล็ก

      – ด้านการใช้ภาษาและการสื่อสาร

      – ด้านการช่วยเหลือตัวเองและการเข้าสังคม

      – ด้านสติปัญญาและจริยธรรม

5. ค้นหาพฤติกรรมเสี่ยงตามวัย

      – การปล่อยปละละเลยจนเสี่ยงอันตราย

      – ปัญหาพฤติกรรม อารมณ์

      – ปัญหาการเรียน ติดเกม เครียด

      – ปัญหาครอบครัว เรื่องเพศ ยาและสารเสพติด

6. ส่งเสริมสุขภาพด้านอื่นเพื่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสม

      – ดูแลช้องปากและฟัน

      – การมีโภชนาการที่ดีและการออกกำลังกายที่เหมาะสม มีผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก

อายุ 18 - 60 ปี

1. ตรวจร่ายการทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2. ตรวจสายตา อายุระหว่าง 40 – 60 ปี ควรตรวจวัดสายตา 1 ครั้ง

3. การตรวจคัดกรองมะเร็งที่จำเป็น

     – มะเร็งเต้านม อายุ 30 – 39 ปี ควรตรวจทุก 3 ปี อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจทุกปี ควรคลำเต้านมด้วยตนเอง หากมีความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์

      – มะเร็งปากมดลูก อายุ 30 – 65 ปี ควรตรวจทุก 3 ปี

      – มะเร็งลำไส้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจอุจจาระทุกปี  

4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

      – ตรวจหาภาวะซีด อายุ 18 – 60 ควรตรวจหาภาวะซีด 1 ครั้ง เพื่อให้การดูและรักษาที่เหมาะสม

      – ตรวจหาเบาหวาน อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 3 ปี ถ้าตรวจเจอเร็วจะรักษาได้เร็ว ป้องกัน และชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

      – ตรวจหาไขมันในเลือด อายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจทุก 5 ปี ช่วยคัดกรอง และป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง

5. แบบประเมินสภาวะสุขภาพของคนวัยทำงานที่จำเป็น สามารถคัดกรองได้ด้วยตนเอง หรือ บุคลากรสาธารณสุข โดยใช้แบบประเมิน ภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด การติดบุหรี่ สุรา ยาและสารเสพติด เพื่อให้รับคำปรึกษาและการดูแลที่เหมาะสม

อายุ 60 ปีขึ้นไป

1. ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

2. ตรวจสายตา อายุ 60 – 64 ปี ตรวจทุก 2 – 4 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น

      – ตรวจปัสสาวะ ควรตรวจทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ

      – ตรวจหาภาวะซีด ควรตรวจทุกปี เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป

      – ตรวจหาไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี

      – ตรวจหาเบาหวาน ควรตรวจทุกปี

      – ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต ควรตรวจทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของไต

4. ตรวจคัดกรองมะเร็ง

      – มะเร็งปากมดลูก ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี

      – มะเร็งเต้านม ตรวจทุกปีจนถึงอายุ 69 ปี

      – มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจอุจจาระทุกปี

5. ประเมินสภาวะสุขภาพในผู้สูงอายุ

      – ภาวะโภชนาการ เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ และได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม

      – ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาติ

      – ความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหัก

      – ภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต

      – ภาวะซึมเศร้า เพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้า และได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม

สสส.
สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
Read More
การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้อุ่นใจ และคลายความกังวล เพราะการตรวจสุขภาพเป็นการตรวจสำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งการพบปัญหาแต่เนิ่น ๆ ลดภาวะแทรกซ้อนของโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

กรดไหลย้อน…..ภัยเงียบวัยทำงาน

โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่พบได้บ่อยสำหรับบุคคลที่อยู่ในวัยทำงาน หากมีการรักษาที่ถูกต้อง มีการดูแลสุขภาพที่ดี ก็สามารถหายขาดได้ โดยเบื้องต้นต้องแยกให้ออกว่า ตัวเองอยู่ในภาวะของโรคกรดไหลย้อน หรือโรคกระเพาะอาหาร เพราะบางครั้งจะไม่สามารถแยกออกได้ 

ความแตกต่างระหว่างผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน 

โรคกระเพาะอาหารจะแสดงอาการทางบริเวณช่องท้อง ตรงลิ้นปี่ หากใครมีอาการปวดจุก แน่น ตรงลิ้นปี่ แสดงว่าเป็นกระเพาะอาหาร หากเป็นโรคของกรดไหลย้อน จะมีอาการที่ทรวงอก เพราะหลอดอาหารอยู่ที่ทรวงอก ผู้ที่มีอาการแสบ ร้อน เจ็บ บริเวณที่ทรวงอก ซึ่ง 2 โรคนี้เกิดจากภาวะเป็นกรดที่เหมือนกัน หากเกิดกับหลอดอาหาร เรียกว่าภาวะกรดไหลย้อน หากเกิดจากกระเพาะอาหาร เรียกว่าโรคกระเพาะอาหาร โดยโรคกระเพาะอาหารจะมีอาการปวดก่อนทานอาหาร และหลังทานอาหาร แต่โรคกรดไหลย้อนจะเกิดหลังจากที่รับประทานอาหารแล้ว 30 – 60 นาที เพราะมีอาหารในกระเพาะอาหารแล้วไหลย้อนไปที่หลอดอาหารได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการได้ 

โดยภาวะกรดไหลย้อนจะมีอาการเรอเปรี้ยว แสบร้อนบริเวณคอ ถ้าเป็นโรคกระเพาะอาหารจะมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน 

กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ 
1.ผู้ที่มีโรคอ้วน เกินมาตรฐาน 
2.ผู้ที่ดื่มสุรา กาแฟ 
3.ผู้ที่สูบบุหรี่ 
4.สตรีที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความดันในช่องท้องที่สูงขึ้น ทำให้เกิดมีภาวะของกรดไหลย้อนได้ 
5.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 
6. โรคหนังแข็ง จะมีการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร มีภาวะหูรูดของหลอดอาหารผิดปกติ ก็จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น ทั้งนี้กรดไหลย้อนเกิดขึ้นในทุกวัย 

สาเหตุของโรค 
1.หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารเสื่อม 
2.กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง 
3.โรคอ้วน ในความอ้วนมีความดันในช่องท้องที่สูงกว่าคนปกติทั่วไป 
4.การตั้งครรภ์ เนื่องจากในภาวะครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น จึงทำให้เกิดความดันในกระเพาะเพิ่มขึ้นไปด้วย 
5.รับประทานยาบางชนิด ยาบางประเภทสามารถออกฤทธิ์ให้กระเพาะอาหาร มีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น 
6.การสูบบุหรี่ จะทำให้เกิดกรดมาก 
7.ความเครียด

อาการกรดไหลย้อน 
1.แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ จากนั้นลามมาบริเวณหน้าอกหรือลำคอ ซึ่งอาการจะชัดเจนมากขึ้นหลังจากการทานอาหารมื้อหนัก 
2. เรอมีกลิ่นเปรี้ยว เนื่องจากกรดซึ่งเป็นน้ำที่มีรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมายังปาก

อาการสำคัญที่ควรพบแพทย์ 
หากอาการไม่รุนแรงมาก ให้รักษาตัวได้ที่บ้าน อาจซื้อยาตามร้านขายยาได้ 

แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรพบแพทย์ เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนได้เพราะบางทีอาจไม่ใช่โรคกรดไหลย้อนได้ 
1.เป็นครั้งหนึ่งนานๆ มีการไหลย้อนแต่ละครั้งที่มีอาการรุนแรง ทำให้คุณภาพชีวิตเสียไป เป็นอยู่บ่อย นานอาเจียนเป็นเลือดบ่อย 
2.น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ 
3.เบื่ออาหาร 
4.กลืนเจ็บ 
5.กลืนติด 
6.กลืนลำบาก 
7.ถ่ายเป็นเลือด 

การวินิจฉัยและการรักษา 

1.ซักประวัติ คนไข้ต้องมีอาการของโรคที่แน่ชัดคือภาวะแสบร้อนหน้าอก แน่นหน้าอก หรือเรอเปรี้ยว 

2.ตรวจร่างกาย ในกรณีที่สงสัย หรือต้องการการยืนยันว่ามีภาวะกรดไหลย้อนหรือเปล่า อาจจะมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง ตรวจทางเดินอาหาร ตรวจความเป็นกรดความเป็นด่างของหลอดอาหารจะเป็นสิ่งที่ยืนยัน โดยปกติที่ทำในเวชปฎิบัติ จะดูจากอาการและการตรวจร่างกายเท่านั้น 

ในกรณีที่ต้องส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารหรือหลอดอาหาร เมื่อภาวะแทรกซ้อน หรือมีอาการที่ไม่แน่ชัดว่า เป็นจากโรคหรือภาวะกรดไหลย้อนหรือเปล่า อาทิ มีอาการกลืนติด กลืนเจ็บ มีน้ำหนักตัวลดลง หรือที่สงสัยหรืออาเจียนเป็นเลือด จำเป็นต้องส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร เพื่อยืนยันถึงภาวะของโรคกรดไหลย้อน 

สำหรับผู้ที่ต้องเตรียมตัวส่องกล้อง 
แพทย์จะใช้ยาลดความเจ็บปวด ด้วยการฉีดยา พ่นสเปรย์ที่คอ ไม่ได้ใช้หัตถการที่น่ากลัวหรือมีความเสี่ยง ดังนั้นผู้ที่มีอายุน้อยหรือมากก็สามารถส่องกล้องตรวจได้ ช่วงเวลาในการตรวจส่องกล้องประมาณ 5- 10 นาที 

แนวทางการรักษา 
ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้วยการดูแลตัวเอง ในกรณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อาทิ ทานอาหารให้ช้าลง จากที่เคยทานมื้อใหญ่ๆ ให้ทานมื้อเล็กๆ ลดการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ แต่ยังมีอาการปวดมากขึ้น หรือไม่มาก ถึงแม้จะทานยาลดกรดแล้ว แต่มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น หลังจากตรวจวินิจฉัยของแพทย์ยืนยันแล้วว่าเป็นกรดไหลย้อน ผู้ป่วยอาจได้รับการผ่าตัด 
ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดไม่ค่อยใช้กันเท่าไหร่ เพราะว่าจะทำในกรณีความรุนแรงของโรคเท่านั้น การใช้ยาลดกรดจึงเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด 

การป้องกัน 
1. ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนัก เพื่อลดภาวะหรือความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความดันในช่องท้องที่สูงขึ้น ทำให้เกิดมีการไหลย้อนของกรด ไปที่หลอดอาหารได้ งดอาหารบางชนิด อาทิ อาหารมัน อาหารทอด ปิ้ง ย่าง อาหารที่มีรสชาติเผ็ด เปรี้ยว เค็มจัด ที่เป็นตัวที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ 
2. หลีกเลี่ยง เครื่องดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม เบียร์ สุรา 
3. ทานอาหารแล้ว ไม่ควรเข้านอนทันที ควรเว้นวรรค 2-3 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน ให้เอนกายให้สูงประมาณ 6-10 นิ้ว เพื่อลดภาวะการเกิดกรดไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารได้ 
4. งดการสูบบุหรี่ 
5. ทานอาหารให้พอดี 
6. ผ่อนคลายความเครียด 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ. ธเนศ ชิตาพนารักษ์ อาจารย์หน่วยวิชาระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. 
ด้วยความปรารถนาดีจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ขอขอบคุณสำหรับบทความสุขภาพที่มีประโยชน์นี้มากครับ

Credit :: https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/hilight-news/2966/

Sleep hygiene สุขอนามัยการนอนหลับ

Sleep hygiene : สุขอนามัยการนอนหลับ

โดย พญ. ศิริลักษณ์ ผลศิริปฐม

  1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลา เป็นประจำสม่ำเสมอและมีระยะเวลาการหลับเพียงพอ
  2. พยายามอยู่บนที่นอนเมื่อง่วงนอน และไม่ทำกิจกรรมอื่นบนเตียง ยกเว้น การนอนหลับหรือกิจกรรมทางเพศ ถ้าไม่สามารถนอนหลับภายใน 30 นาทีหลังจากเข้านอน แนะนำให้พิจารณาลุกออกจากเตียงแล้วทำกิจกรรมอื่นที่สงบและผ่อนคลายในความมืดหรือแสงสลัว เมื่อง่วงแล้วจึงกลับมานอนอีกครั้ง
  3. จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการนอนที่ดี เช่น จัดห้องนอนให้เงียบ หรือไม่มีเสียงรบกวน มีอุณหภูมิพอเหมาะที่ทำให้หลับสบาย และหลับได้ดีตลอดคืน
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ 4 ถึง 6 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะอาจทำให้เกิดการนอนหลับไม่สนิทในช่วงหลังได้
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงการสูบบุหรี่ ก่อนนอน เพราะคาเฟอีนและนิโคตินจะไปรบกวนการนอนหลับได้
  6. หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนมากขึ้น และหลีกเลี่ยงยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท โดยเฉพาะก่อนเวลาเข้านอน
  7. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำนวนมาก หรืออาหารที่ย่อยยาก 3 ถึง 4  ชั่วโมงก่อนนอน เนื่องจากอาจทำให้รู้สึกอึดอัด นอนหลับไม่สนิท แต่สามารถรับประทานอาหารว่างเบาๆ ได้ เช่น นม ผลไม้ จะช่วยให้หลับสบายขึ้น
  8. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักในเวลาก่อนนอน และหลีกเลี่ยงการทำงานที่มีความเครียดสูงเนื่องจากจะทำให้สมองตื่นตัว และพยายามทำให้ร่างกายผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น อาบน้ำอุ่น 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน หรืออ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเบาๆ เป็นต้น
  9. พยายามไม่งีบหลับในเวลากลางวัน หากมีความจำเป็นให้พิจารณางีบหลับช่วงสั้นๆ ในตอนบ่าย แต่ไม่ควรนานเกิน 1 ชั่วโมง

ขอขอบคุณสำหรับบทความสุขภาพที่มีประโยชน์นี้มากครับ

Credit :: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/sleep-hygiene/

อาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน

อาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน (Exccessive Daytime Sleepiness)

โดย นพ.นพดล ตรีประทีปศิลป์

อาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวันคือ อาการที่คนเราไม่สามารถตื่นหรือตื่นตัวได้ระหว่างวันในสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่สำคัญส่งผลให้ไม่สามารถระงับการนอนหลับ หรือภาวะง่วงนอนได้แม้อยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงที่เรียกว่า โรคลมหลับ ซึ่งหมายถึง การมีอาการง่วงนอนที่ไม่สามารถต้านทานได้จนหลับไปแบบทันทีทันใดไม่ทันรู้สึกตัว

อาการร่วม : อ่อนเพลีย สมองเฉื่อยชา มึนงง

สาเหตุหลัก ๆ :

  1. จำนวนช่วงโมงที่นอนไม่เพียงพอ
  2. คุณภาพการนอนที่ไม่ดี ทำให้หลับ ๆ ตื่น ๆ ตื่นบ่อย เช่น อาจจะเกิดจากภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ  หรือ ภาวะขาอยู่ไม่สุขขณะหลับ
  3. ปัจจัยอื่น ๆ เช่น จากยาบางตัวที่ทำให้ง่วง, โรคทางกาย เช่น ภาวะบกพร่องฮอร์โมน ไทรอยด์ หรืออาการเจ็บป่วยทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือ โรคจากการหลับ เช่น ภาวะลมหลับ

เมื่อใดควรพบแพทย์ :

  1. เมื่อรู้สึกความง่วงระหว่างวันนั้นมีปัญหารบกวนกับคุณภาพชีวิตหรือการทำงาน
  2. หากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาที่รีบด่วน เช่น งีบหลับหรือหลับในขณะขับรถจนเกือบเกิดอันตราย หรือไม่สามารถ ทำางานระหว่างวันได้ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์

ตกขาวแบบไหนไม่ปกติ

ตกขาวแบบไหนไม่ปกติ

โดย พญ.เมธาวี อุฬารวงศ์ (สูตินรีแพทย์)

  • ตกขาวที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ตกขาวเป็นก้อนปริมาณมาก ตกขาวเป็นสีเขียว หรือมีฟอง
  • ตกขาวร่วมกับอาการคันช่องคลอด
  • ตกขาวที่มีกลิ่นผิดปกติ เช่น กลิ่นคาวปลา
  • ตกขาวมีเลือดปน

ประจำเดือนแบบไหนไม่ปกติ

ประจำเดือนแบบไหนไม่ปกติ

โดย พญ.เมธาวี อุฬารวงศ์ (สูตินรีแพทย์)

            ในผู้หญิงทุกคน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าประจำเดือนออกมาตามรอบเดือน ประจำเดือนนั้นไม่ใช่ของเสียอย่างที่หลาย ๆ ท่านเข้าใจ แต่คือสิ่งที่เกิดจากการหลุดลอกตัวของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกที่เตรียมไว้สำหรับรับการฝังตัวของตัวอ่อน เมื่อไม่ได้มีการฝังตัว ผนังจึงผลัดออกมาตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในแต่ละเดือน ดังนั้นประจำเดือนจึงควรออกเป็นรอบ ๆ อย่างสม่ำเสมอ ในปริมาณที่เหมาะสม

ประจำเดือน ควรมีลักษณะอย่างไร?

  • ประจำเดือนมักมีสีแดง ไม่มีลิ่มเลือดหรือชิ้นเนื้อปน บางครั้งประจำเดือนอาจออกมาพร้อมกับตกขาวจึงดูเป็นก้อนได้แต่ไม่อันตราย
  • ประจำเดือนมักไม่เกิน 7 วันต่อรอบ และมาเพียง 1 รอบต่อเดือน แต่ในบางครั้ง หากมีรอบเดือนในช่วงต้นเดือน อาจมีรอบเดือนอีกครั้งในช่วงวันท้ายๆของเดือนได้
  • โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละรอบประจำเดือนจะห่างกัน 28 วัน แต่สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 21 ถึง 35 วัน โดยในแต่ละคนควรมีรอบเดือนที่สม่ำเสมอในทุกๆเดือน อย่างไรก็ตามในช่วงปีแรกๆที่เริ่มมีประจำเดือนหรือในวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจไม่สม่ำเสมอได้
  • ปริมาณประจำเดือน ที่ปกตินั้นไม่ควรเกิน 80 ซีซี โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ซีซีต่อรอบ เทียบได้กับผ้าอนามัยประมาณ 3-4 ผืนต่อวัน

เลือดออกผิดปกติแบบไหนที่ควรมาพบแพทย์

  • เลือดออกตามรอบเดือน แต่มาปริมาณมากผิดปกติ เปลี่ยนผ้าอนามัยถี่ขึ้น ใช้ผ้าอนามัยผืนใหญ่ขึ้นหรือต้องใช้ผ้าอ้อมอนามัย มีลิ่มเลือดปน เริ่มมีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม รวมถึงตรวจพบว่ามีภาวะเลือดจาง
  • เลือดออกยาวนานขึ้น เช่น จากปกติมีรอบเดือนไม่เกิน 7 วัน แต่มียาวนานขึ้นเป็น 10 วัน
  • มีเลือดออกกะปริบกะปรอยนอกรอบเดือน หรือมีประจำเดือนมากกว่า 1 รอบต่อเดือน
  • เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • เลือดออกหลังหมดประจำเดือน หลังหมดประจำเดือนแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงจะค่อยๆลดลงจนหมดไป จึงไม่ควรกลับมามีประจำเดือนอีก หากมีเลือดออกจากช่องคลอดควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินทุกครั้ง
  • ประจำเดือนไม่มาตามรอบ หรือประจำเดือนไม่มาติดต่อกันหลายเดือน

ประจำเดือนแบบไหนไม่ปกติ

ความรู้ทั่วไปความรู้สำหรับสุภาพสตรี   ลงวันที่ 22 เมษายน 2565

ประจำเดือนแบบไหนไม่ปกติ

โดย พญ.เมธาวี อุฬารวงศ์ (สูตินรีแพทย์)

            ในผู้หญิงทุกคน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าประจำเดือนออกมาตามรอบเดือน ประจำเดือนนั้นไม่ใช่ของเสียอย่างที่หลาย ๆ ท่านเข้าใจ แต่คือสิ่งที่เกิดจากการหลุดลอกตัวของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกที่เตรียมไว้สำหรับรับการฝังตัวของตัวอ่อน เมื่อไม่ได้มีการฝังตัว ผนังจึงผลัดออกมาตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในแต่ละเดือน ดังนั้นประจำเดือนจึงควรออกเป็นรอบ ๆ อย่างสม่ำเสมอ ในปริมาณที่เหมาะสม

ประจำเดือน ควรมีลักษณะอย่างไร?

  • ประจำเดือนมักมีสีแดง ไม่มีลิ่มเลือดหรือชิ้นเนื้อปน บางครั้งประจำเดือนอาจออกมาพร้อมกับตกขาวจึงดูเป็นก้อนได้แต่ไม่อันตราย
  • ประจำเดือนมักไม่เกิน 7 วันต่อรอบ และมาเพียง 1 รอบต่อเดือน แต่ในบางครั้ง หากมีรอบเดือนในช่วงต้นเดือน อาจมีรอบเดือนอีกครั้งในช่วงวันท้ายๆของเดือนได้
  • โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละรอบประจำเดือนจะห่างกัน 28 วัน แต่สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 21 ถึง 35 วัน โดยในแต่ละคนควรมีรอบเดือนที่สม่ำเสมอในทุกๆเดือน อย่างไรก็ตามในช่วงปีแรกๆที่เริ่มมีประจำเดือนหรือในวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจไม่สม่ำเสมอได้
  • ปริมาณประจำเดือน ที่ปกตินั้นไม่ควรเกิน 80 ซีซี โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ซีซีต่อรอบ เทียบได้กับผ้าอนามัยประมาณ 3-4 ผืนต่อวัน

เลือดออกผิดปกติแบบไหนที่ควรมาพบแพทย์

  • เลือดออกตามรอบเดือน แต่มาปริมาณมากผิดปกติ เปลี่ยนผ้าอนามัยถี่ขึ้น ใช้ผ้าอนามัยผืนใหญ่ขึ้นหรือต้องใช้ผ้าอ้อมอนามัย มีลิ่มเลือดปน เริ่มมีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม รวมถึงตรวจพบว่ามีภาวะเลือดจาง
  • เลือดออกยาวนานขึ้น เช่น จากปกติมีรอบเดือนไม่เกิน 7 วัน แต่มียาวนานขึ้นเป็น 10 วัน
  • มีเลือดออกกะปริบกะปรอยนอกรอบเดือน หรือมีประจำเดือนมากกว่า 1 รอบต่อเดือน
  • เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • เลือดออกหลังหมดประจำเดือน หลังหมดประจำเดือนแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงจะค่อยๆลดลงจนหมดไป จึงไม่ควรกลับมามีประจำเดือนอีก หากมีเลือดออกจากช่องคลอดควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินทุกครั้ง
  • ประจำเดือนไม่มาตามรอบ หรือประจำเดือนไม่มาติดต่อกันหลายเดือน

แพทย์จะให้การรักษาอย่างไร

  • แพทย์จะซักประวัติเบื้องต้น โดยเฉพาะประวัติทางสูตินรีเวช ได้แก่ ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการตรวจภายในและตัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงประวัติประจำเดือนย้อนหลัง
  • ตรวจร่างกาย การตรวจภายใน และอาจใช้การอุลตร้าซาวด์อวัยวะอุ้งเชิงกรานร่วมด้วยหากแพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติ
  • ตรวจประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ อาจจำเป็นต้องส่งตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินการตั้งครรภ์
  • ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก และอาจใช้เครื่องมือดูดชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกไปตรวจในรายที่มีความเสี่ยง

แนะนำให้คุณสุภาพสตรีมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อประเมินทุกครั้ง หากพบว่ามีเลือดออกผิดปกติที่ลักษณะต่างออกไปจากประจำเดือน หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเลือดออกผิดปกติหรือไม่ คลินิกนรีเวชกรรม ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกยินดีให้คำปรึกษาค่ะ

ขอขอบคุณสำหรับบทความสุขภาพที่มีประโยชน์นี้มากครับ

Credit :: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/menstruation/

กระดูกข้อเข่าเสื่อม ภาวะที่ทุกคนมีโอกาสเกิดขึ้นได้

กระดูกข้อเข่าเสื่อม ภาวะที่ทุกคนมีโอกาสเกิดขึ้นได้

โดย นพ.ธรรมพงษ์ คงคณิน

                ภาวะข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในกลุ่มวัยกลางคน มีแนวโน้มพบได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยการใช้ชิวิตประจำวัน เช่น อาหารการกินที่ไม่เหมาะสม การออกกำลังกายที่ไม่พอเหมาะ เป็นต้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ข้อเข่ามีผิดรูป ขาโก่ง เดินได้ไม่ปกติ มีปัญหาในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ทำให้เกิดความทุกข์ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

  1. ภาวะการเสื่อมแบบ ปฐมภูมิ หรือ ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเกิดจากอายุที่มากขึ้น มักพบในกลุ่มอายุที่มากกว่า 50 ปีขึ้นไป เป็นการเสื่อมสภาพของ กระดูกอ่อนผิวข้อเข่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างการรับน้ำหนัก และมีผลต่อการทำงานกระดูกข้อต่อมีปัญหา โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุ เพศ น้ำหนัก พฤติกรรม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก
  2. ภาวะการเสื่อมแบบ ทุติยภูมิ เป็นการเสื่อมที่มีสาเหตุนำมาก่อน ทั้งเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าต์ เป็นต้น หรือ เกิดจากการเคยประสบอุบัติเหตุบริเวณกระดูกข้อเข่า ทั้งเส้นเอ็น หมอนรองกระดูก รวมทั้งอาจจะเคยมีการติดเชื้อข้อเข่ามาก่อนก็สามารถทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน

สัญญาณบ่งชี้ภาวะข้อเข่าเสื่อม

  1. อาการปวดบริเวณเข่า ทั้งตอนเริ่มเคลื่อนไหวเหยียดงอเข่า มีปวดเวลาเดินลงน้ำหนัก โดยเฉพาะตอนขึ้นบันได อาการจะดีขึ้นเมื่อนั่งพัก
  2. อาการข้อเข่าติดขัด ฝืด ในข้อเข่า มักจะพบอาการในตอนเช้าหลังตื่นนอน และเมือหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน
  3. รู้สึกว่ามีเสียงในเข่า กรึบกรับ เวลาขยับข้อเข่า สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอาการปวด
  4. กล้ามเนื้อต้นขาลีบ เมื่อเทียบกับอีกข้าง แต่อาจจะประเมินได้ยากในกลุ่มคนไข้ที่เริ่มมีภาวะข้อเข่าเสื่อมทั้งสองข้าง
  5. เมื่อเริ่มมีภาวะข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น จะทำให้เกิดการผิดรูปของข้อเข่า ขาโก่ง/ขาฉิ่งมากขึ้น หรือมีข้อเข่าหลวมร่วมด้วยเวลาเดิน

การรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อม

การรักษาด้วยมีทั้ง การรักษาด้วยยา/กายภาพบำบัด หรือ การผ่าตัดภาวะข้อเข่าเสื่อม

 การรักษาทางเลือกโดยการไม่ผ่าตัด :

  • รักษาด้วยยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ หรือกลุ่มสารอาหารเสริมสร้างกระดูก
    • ในปัจจุบัน จะเริ่มการรักษาด้วย ยาแก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอล และยาต้านการอักเสบที่ไมใช่สเตียรอยด์ รวมทั้งอาจจะมียาเสริมด้วย ยากลุ่มกลูโคซามีนซัลเฟต [Glucosamine sulfate] เพื่อช่วยชะลอภาวะเสื่อม และซ่อมแซมผิวข้อ
  • การฉีด สารเข้าข้อเข่า ในปัจจุบันมีการพัฒนา เป็นสารน้ำเลี้ยงไขข้อ มีหลายรูปแบบ ที่สามารถช่วยลดอาการปวดได้
  • การทำกายภาพบำบัด เช่น การบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าให้แข็งแรง การใช้ความร้อน การฝังเข็ม

การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ข้อเข่าเสื่อมลุกลาม เช่น การลดน้ำหนักให้เหมาะสม การออกกำลังกายเพื่อเสริม
สร้างกล้ามเนื้อรอบเข่า การใช้ชีวิตประจำวันที่เสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม เช่นการนั่งพับเพียบเป็นเวลานาน การนั่งคุกเข่า เป็นต้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการรักษาที่ดี

การรักษาด้วยการผ่าตัด ในปัจจุบันจะแบ่งตามกลุ่มอายุ และสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมของผู้ป่วย

  • ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย ที่อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือมีขาผิดรูป จะเป็นการผ่าตัดปรับแนวข้อเข่า โดยการแก้ไขแนวแรงให้กระจายไปยังจุดที่ผิวข้อมีสภาพดี เพื่อลดอาการปวด
  • ในกลุ่มผู้ป่วยอายุมากกว่า 50-60 ปี อาจจะพิจารณาการผ่าตัด เปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม โดยมีทั้งแบบ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อบ่งชี้ และข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป

ขอขอบคุณสำหรับบทความสุขภาพที่มีประโยชน์นี้มากครับ

Credit :: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/knee-osteoarthritis/

ทำความรู้จักกับต้อกระจก (Cataract)

ทำความรู้จักกับ ‘ต้อกระจก’ (Cataract)

โดย พญ.ปริยา จารุจินดา

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อภาวะต้อกระจกกันมาบ้าง และอาจสับสนกับภาวะต้อชนิดอื่นๆทางตา รวมถึงกังวลถึงอันตรายและวิธีการรักษา บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ ‘ต้อกระจก’กันค่ะ

ต้อกระจกเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการขุ่นของ  “เลนส์ตา” โดยปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาทำให้เกิดการมองเห็นภาพ เมื่อเกิดต้อกระจก จอประสาทตาจะรับแสงได้ไม่เต็มที่  ทำให้การมองเห็นผิดปกติไป อาจมีสายตาพร่ามัวเหมือนมองผ่านกระจกฝ้า ยิ่งเลนส์ตาขุ่นมากขึ้น การมองเห็นจะลดน้อยลงตามลำดับ ภาวะต้อกระจกเป็นภาวะซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามวัย จึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก

  1. อายุที่มากขึ้น คือสาเหตุหลักของโรคต้อกระจก
  2. การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดจัดเข้าตาเป็นเวลานานๆ
  3. อุบัติเหตุที่ดวงตา ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง โดนของมีคม สารเคมี หรือสารรังสี
  4. โรคตา หรือ โรคทางร่างกายบางโรค เช่น การติดเชื้อ โรคเบาหวาน
  5. การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
  6. กรรมพันธุ์ และความผิดปกติแต่กำเนิด การติดเชื้อและการอักเสบตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ในหลายรายต้อกระจกอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด

อาการ

  • ตามัวหรือมองเห็นไม่ชัดเจน ลักษณะคล้ายมีฝ้าหมอกบัง
  • มองเห็นภาพซ้อน หรือมีอาการสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแว่นตาบ่อย มองเห็นระยะใกล้ได้ดีขึ้น
  • มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะเวลาขณะขับรถในตอนกลางคืน
  • สู้แสงสว่างไม่ได้
  • มองเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม

หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้ เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

การรักษา

ในระยะเริ่มแรกของการเป็นต้อกระจก จะพบว่ามีค่าสายตาที่เปลี่ยนไป  การใส่แว่นตาเพื่อปรับค่าสายตาให้ เหมาะสมจะช่วยทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ จนกระทั่งต้อกระจกเป็นมากขึ้น วิธีการรักษาจะเป็นการผ่าตัดต้อกระจก และใส่เลนส์ตาเทียม ในปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตาหรือยารับประทานใด ๆ ที่จะสามารถรักษาต้อกระจกได้

การรักษาต้อกระจกโดยการผ่าตัด

1) วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification With Intraocular Lens)

เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน แผลที่กระจกตาเล็กเพียง 3 มม. แพทย์จะสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไป ที่ตัวต้อกระจก ใช้พลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกจนหมดจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่

2) วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)

วิธีผ่าตัดดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ๆ จนไม่เหมาะกับการ สลายด้วยเครื่อง จักษุแพทย์จะเปิดแผล บริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม.เพื่อ เอาตัวเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แล้วจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล

ทั้ง 2 วิธีสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ปกติอีกครั้งหลังได้รับการผ่าตัด

การป้องกันและชะลอการเกิดต้อกระจก

หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้เกิดต้อกระจก เช่น

  • ใส่แว่นกันแดดหรือกางร่มก่อนออกกลางแจ้ง
  • รักษาและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี เช่น เบาหวาน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆโดยไม่มีข้อบ่งชี้

ต้อกระจกเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจคัดกรองสายตาเป็นระยะ หรือเมื่อมีอาการที่สงสัยว่า

อาจจะเป็นต้อกระจก แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

Ref: American academy of ophthalmology. Lens and cataract section 10 2016- 2017. Singapore :Basic and clinical science course; 2016

ขอขอบคุณสำหรับบทความสุขภาพที่มีประโยชน์นี้มากครับ

Credit :: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/cataract/

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม
พญ. พิรัฐิมา วชิรปราการสกุล

อาการผิดปกติของเต้านมที่ควรมาตรวจเพิ่มเติม

  • คลำได้ก้อนผิดปกติที่เต้านม
  • มีน้ำไหลออกจากหัวนมผิดปกติ : สีเหลือง, เลือดปนน้ำใส, เลือด
  • มีแผลผิดปกติบริเวณหัวนม หรือ หัวนมบุ๋ม ที่เพิ่งเกิดขึ้น(ไม่ใช่เป็นแต่กำเนิด)
  • มีเต้านม บวม แดง ร้อนอักเสบ หรือ มีแผลผิดปกติบริเวณเต้านม
  • คลำได้ก้อนผิดปกติบริเวณรักแร้

การตรวจคัดกรอง

โดยทั่วไปแนะนำให้ผู้หญิงเริ่มตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง เดือนละครั้ง ตั้งแต่อายุ 20 ปี

และแนะนำให้ผู้หญิงที่ไม่มีอาการผิดปกติ เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี รวมถึงแนะนำให้เข้ารับการตรวจคลำเต้านมจากบุคลากรทางการแพทย์ปีละครั้ง

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ สามารถเข้ามารับการตรวจก่อนได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอตามช่วงอายุข้างต้น

ขอขอบคุณสำหรับบทความสุขภาพที่มีประโยชน์นี้มากครับ

Credit :: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/breastcancer/