โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่พบได้บ่อยสำหรับบุคคลที่อยู่ในวัยทำงาน หากมีการรักษาที่ถูกต้อง มีการดูแลสุขภาพที่ดี ก็สามารถหายขาดได้ โดยเบื้องต้นต้องแยกให้ออกว่า ตัวเองอยู่ในภาวะของโรคกรดไหลย้อน หรือโรคกระเพาะอาหาร เพราะบางครั้งจะไม่สามารถแยกออกได้
ความแตกต่างระหว่างผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน
โรคกระเพาะอาหารจะแสดงอาการทางบริเวณช่องท้อง ตรงลิ้นปี่ หากใครมีอาการปวดจุก แน่น ตรงลิ้นปี่ แสดงว่าเป็นกระเพาะอาหาร หากเป็นโรคของกรดไหลย้อน จะมีอาการที่ทรวงอก เพราะหลอดอาหารอยู่ที่ทรวงอก ผู้ที่มีอาการแสบ ร้อน เจ็บ บริเวณที่ทรวงอก ซึ่ง 2 โรคนี้เกิดจากภาวะเป็นกรดที่เหมือนกัน หากเกิดกับหลอดอาหาร เรียกว่าภาวะกรดไหลย้อน หากเกิดจากกระเพาะอาหาร เรียกว่าโรคกระเพาะอาหาร โดยโรคกระเพาะอาหารจะมีอาการปวดก่อนทานอาหาร และหลังทานอาหาร แต่โรคกรดไหลย้อนจะเกิดหลังจากที่รับประทานอาหารแล้ว 30 – 60 นาที เพราะมีอาหารในกระเพาะอาหารแล้วไหลย้อนไปที่หลอดอาหารได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการได้
โดยภาวะกรดไหลย้อนจะมีอาการเรอเปรี้ยว แสบร้อนบริเวณคอ ถ้าเป็นโรคกระเพาะอาหารจะมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน
กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกรดไหลย้อน ได้แก่
1.ผู้ที่มีโรคอ้วน เกินมาตรฐาน
2.ผู้ที่ดื่มสุรา กาแฟ
3.ผู้ที่สูบบุหรี่
4.สตรีที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความดันในช่องท้องที่สูงขึ้น ทำให้เกิดมีภาวะของกรดไหลย้อนได้
5.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
6. โรคหนังแข็ง จะมีการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร มีภาวะหูรูดของหลอดอาหารผิดปกติ ก็จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น ทั้งนี้กรดไหลย้อนเกิดขึ้นในทุกวัย
สาเหตุของโรค
1.หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารเสื่อม
2.กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
3.โรคอ้วน ในความอ้วนมีความดันในช่องท้องที่สูงกว่าคนปกติทั่วไป
4.การตั้งครรภ์ เนื่องจากในภาวะครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น จึงทำให้เกิดความดันในกระเพาะเพิ่มขึ้นไปด้วย
5.รับประทานยาบางชนิด ยาบางประเภทสามารถออกฤทธิ์ให้กระเพาะอาหาร มีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น
6.การสูบบุหรี่ จะทำให้เกิดกรดมาก
7.ความเครียด
อาการกรดไหลย้อน
1.แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ จากนั้นลามมาบริเวณหน้าอกหรือลำคอ ซึ่งอาการจะชัดเจนมากขึ้นหลังจากการทานอาหารมื้อหนัก
2. เรอมีกลิ่นเปรี้ยว เนื่องจากกรดซึ่งเป็นน้ำที่มีรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมายังปาก
อาการสำคัญที่ควรพบแพทย์
หากอาการไม่รุนแรงมาก ให้รักษาตัวได้ที่บ้าน อาจซื้อยาตามร้านขายยาได้
แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรพบแพทย์ เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนได้เพราะบางทีอาจไม่ใช่โรคกรดไหลย้อนได้
1.เป็นครั้งหนึ่งนานๆ มีการไหลย้อนแต่ละครั้งที่มีอาการรุนแรง ทำให้คุณภาพชีวิตเสียไป เป็นอยู่บ่อย นานอาเจียนเป็นเลือดบ่อย
2.น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ
3.เบื่ออาหาร
4.กลืนเจ็บ
5.กลืนติด
6.กลืนลำบาก
7.ถ่ายเป็นเลือด
การวินิจฉัยและการรักษา
1.ซักประวัติ คนไข้ต้องมีอาการของโรคที่แน่ชัดคือภาวะแสบร้อนหน้าอก แน่นหน้าอก หรือเรอเปรี้ยว
2.ตรวจร่างกาย ในกรณีที่สงสัย หรือต้องการการยืนยันว่ามีภาวะกรดไหลย้อนหรือเปล่า อาจจะมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง ตรวจทางเดินอาหาร ตรวจความเป็นกรดความเป็นด่างของหลอดอาหารจะเป็นสิ่งที่ยืนยัน โดยปกติที่ทำในเวชปฎิบัติ จะดูจากอาการและการตรวจร่างกายเท่านั้น
ในกรณีที่ต้องส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารหรือหลอดอาหาร เมื่อภาวะแทรกซ้อน หรือมีอาการที่ไม่แน่ชัดว่า เป็นจากโรคหรือภาวะกรดไหลย้อนหรือเปล่า อาทิ มีอาการกลืนติด กลืนเจ็บ มีน้ำหนักตัวลดลง หรือที่สงสัยหรืออาเจียนเป็นเลือด จำเป็นต้องส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร เพื่อยืนยันถึงภาวะของโรคกรดไหลย้อน
สำหรับผู้ที่ต้องเตรียมตัวส่องกล้อง
แพทย์จะใช้ยาลดความเจ็บปวด ด้วยการฉีดยา พ่นสเปรย์ที่คอ ไม่ได้ใช้หัตถการที่น่ากลัวหรือมีความเสี่ยง ดังนั้นผู้ที่มีอายุน้อยหรือมากก็สามารถส่องกล้องตรวจได้ ช่วงเวลาในการตรวจส่องกล้องประมาณ 5- 10 นาที
แนวทางการรักษา
ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้วยการดูแลตัวเอง ในกรณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อาทิ ทานอาหารให้ช้าลง จากที่เคยทานมื้อใหญ่ๆ ให้ทานมื้อเล็กๆ ลดการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ แต่ยังมีอาการปวดมากขึ้น หรือไม่มาก ถึงแม้จะทานยาลดกรดแล้ว แต่มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น หลังจากตรวจวินิจฉัยของแพทย์ยืนยันแล้วว่าเป็นกรดไหลย้อน ผู้ป่วยอาจได้รับการผ่าตัด
ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดไม่ค่อยใช้กันเท่าไหร่ เพราะว่าจะทำในกรณีความรุนแรงของโรคเท่านั้น การใช้ยาลดกรดจึงเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด
การป้องกัน
1. ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนัก เพื่อลดภาวะหรือความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความดันในช่องท้องที่สูงขึ้น ทำให้เกิดมีการไหลย้อนของกรด ไปที่หลอดอาหารได้ งดอาหารบางชนิด อาทิ อาหารมัน อาหารทอด ปิ้ง ย่าง อาหารที่มีรสชาติเผ็ด เปรี้ยว เค็มจัด ที่เป็นตัวที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้
2. หลีกเลี่ยง เครื่องดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม เบียร์ สุรา
3. ทานอาหารแล้ว ไม่ควรเข้านอนทันที ควรเว้นวรรค 2-3 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน ให้เอนกายให้สูงประมาณ 6-10 นิ้ว เพื่อลดภาวะการเกิดกรดไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารได้
4. งดการสูบบุหรี่
5. ทานอาหารให้พอดี
6. ผ่อนคลายความเครียด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ. ธเนศ ชิตาพนารักษ์ อาจารย์หน่วยวิชาระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
ด้วยความปรารถนาดีจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอขอบคุณสำหรับบทความสุขภาพที่มีประโยชน์นี้มากครับ
Credit :: https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/hilight-news/2966/