ทำความรู้จักกับต้อกระจก (Cataract)

ทำความรู้จักกับ ‘ต้อกระจก’ (Cataract)

โดย พญ.ปริยา จารุจินดา

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อภาวะต้อกระจกกันมาบ้าง และอาจสับสนกับภาวะต้อชนิดอื่นๆทางตา รวมถึงกังวลถึงอันตรายและวิธีการรักษา บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ ‘ต้อกระจก’กันค่ะ

ต้อกระจกเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการขุ่นของ  “เลนส์ตา” โดยปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาทำให้เกิดการมองเห็นภาพ เมื่อเกิดต้อกระจก จอประสาทตาจะรับแสงได้ไม่เต็มที่  ทำให้การมองเห็นผิดปกติไป อาจมีสายตาพร่ามัวเหมือนมองผ่านกระจกฝ้า ยิ่งเลนส์ตาขุ่นมากขึ้น การมองเห็นจะลดน้อยลงตามลำดับ ภาวะต้อกระจกเป็นภาวะซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามวัย จึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก

  1. อายุที่มากขึ้น คือสาเหตุหลักของโรคต้อกระจก
  2. การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดจัดเข้าตาเป็นเวลานานๆ
  3. อุบัติเหตุที่ดวงตา ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง โดนของมีคม สารเคมี หรือสารรังสี
  4. โรคตา หรือ โรคทางร่างกายบางโรค เช่น การติดเชื้อ โรคเบาหวาน
  5. การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
  6. กรรมพันธุ์ และความผิดปกติแต่กำเนิด การติดเชื้อและการอักเสบตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่ในหลายรายต้อกระจกอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด

อาการ

  • ตามัวหรือมองเห็นไม่ชัดเจน ลักษณะคล้ายมีฝ้าหมอกบัง
  • มองเห็นภาพซ้อน หรือมีอาการสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแว่นตาบ่อย มองเห็นระยะใกล้ได้ดีขึ้น
  • มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะเวลาขณะขับรถในตอนกลางคืน
  • สู้แสงสว่างไม่ได้
  • มองเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม

หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้ เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

การรักษา

ในระยะเริ่มแรกของการเป็นต้อกระจก จะพบว่ามีค่าสายตาที่เปลี่ยนไป  การใส่แว่นตาเพื่อปรับค่าสายตาให้ เหมาะสมจะช่วยทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ จนกระทั่งต้อกระจกเป็นมากขึ้น วิธีการรักษาจะเป็นการผ่าตัดต้อกระจก และใส่เลนส์ตาเทียม ในปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตาหรือยารับประทานใด ๆ ที่จะสามารถรักษาต้อกระจกได้

การรักษาต้อกระจกโดยการผ่าตัด

1) วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification With Intraocular Lens)

เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน แผลที่กระจกตาเล็กเพียง 3 มม. แพทย์จะสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไป ที่ตัวต้อกระจก ใช้พลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกจนหมดจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่

2) วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)

วิธีผ่าตัดดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ๆ จนไม่เหมาะกับการ สลายด้วยเครื่อง จักษุแพทย์จะเปิดแผล บริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม.เพื่อ เอาตัวเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แล้วจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล

ทั้ง 2 วิธีสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ปกติอีกครั้งหลังได้รับการผ่าตัด

การป้องกันและชะลอการเกิดต้อกระจก

หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้เกิดต้อกระจก เช่น

  • ใส่แว่นกันแดดหรือกางร่มก่อนออกกลางแจ้ง
  • รักษาและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี เช่น เบาหวาน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆโดยไม่มีข้อบ่งชี้

ต้อกระจกเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจคัดกรองสายตาเป็นระยะ หรือเมื่อมีอาการที่สงสัยว่า

อาจจะเป็นต้อกระจก แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

Ref: American academy of ophthalmology. Lens and cataract section 10 2016- 2017. Singapore :Basic and clinical science course; 2016

ขอขอบคุณสำหรับบทความสุขภาพที่มีประโยชน์นี้มากครับ

Credit :: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/cataract/